WHAT'S NEW?
Loading...

เทคนิคลดเสี่ยงติดเชื้อ...จากห้องน้ำสาธารณะ


Advertisements


ห้องน้ำเป็นสถานที่ที่มีความร้อนและความชื้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคจำนวนมาก พบว่าอุณหภูมิโดยทั่วไปของห้องน้ำในออฟฟิศ และอาคารต่าง ๆ ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 65-75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด

ถ้าเข้าไปใช้แล้วไม่ดูแลความสะอาดของมือหรือผิวหนังที่อาจไปสัมผัสกับเชื้อที่ติดอยู่ในห้องน้ำ อาจทำให้เกิดการติดโรคได้ แต่การจะหลีกเลี่ยงไม่ใช้ห้องน้ำสาธารณะเลยก็เป็นเรื่องลำบาก เพราะคนทำงานส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่ออฟฟิศหรืออยู่นอกบ้านวันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง เพื่อให้คุณเข้าห้องน้ำได้อย่างสบายใจและปลอดภัย เราจึงมีเทคนิคการเข้าห้องน้ำสาธารณะมาฝากกัน

1. เลือกห้องน้ำที่ไม่ค่อยมีคนใช้ ซึ่งมักจะเป็นห้องน้ำที่ไม่ได้อยู่ในแหล่งพลุกพล่าน เช่น ห้องน้ำในออฟฟิศชั้นที่มีพนักงานน้อย ๆ เป็นต้น

2. เลือกห้องน้ำที่โถชักโครกดูสะอาดที่สุด หลีกเลี่ยงฝารองนั่งที่เปียกชื้น และห้องที่ยังเห็นสิ่งปฏิกูลของผู้อื่นค้างอยู่ รวมถึงห้องที่มองเห็นผ้าอนามัยที่ไม่ได้ห่อทิ้งให้เรียบร้อย หรือไม่ได้อยู่ในถังที่มีฝาปิด

3. ใช้กระดาษชำระจับลูกบิดหรือกลอนประตูก่อนเปิด เพราะลูกบิดหรือกลอนจากด้านในห้องน้ำมักจะสกปรกกว่าเปิดจากด้านนอกห้องน้ำ เมื่อออกมาแล้วควรทิ้งกระดาษชำระชิ้นที่ใช้เปิดลูกบิดประตู ไม่ควรนำมาเช็ดมือต่อ

4. เมื่อทำธุระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรปิดฝาก่อนกดชักโครก เพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคในอากาศที่อาจเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ แต่ถ้าไม่มีฝาปิด ก็ควรหันหน้าไปทางอื่น และรีบออกจากห้องน้ำ ที่สำคัญ ก่อนกดชักโครกควรนำกระดาษมารองที่ปุ่มชักโครกก่อนกดแล้วทิ้งลงถังขยะ

5. ควรใช้แอลกอฮอล์แบบพกติดตัวฉีดฝารองนั่ง แล้วใช้กระดาษชำระเช็ดบริเวณฝารองนั่งให้สะอาดถึงแม้จะดูเหมือนสะอาดอยู่แล้วก็ตาม หรือใช้กระดาษชำระมารองก่อนนั่งก็ได้ แต่ถ้ายังกังวลไม่อยากให้ก้นสัมผัสกับฝารองนั่ง ก็ควรใช้วิธีย่อขาเหมือนกำลังจะนั่งยอง ยกก้นให้อยู่เหนือโถรองนั่งประมาณ 6 นิ้ว ควรถอดกางเกงลงมาแค่ระหว่างเข่ากับเท้า ระวังไม่ให้ลงมากองที่พื้นห้องน้ำ

6. หลังเข้าห้องน้ำควรล้างมือทุกครั้ง โดยล้างให้ถูกต้องตามหลักวิธีการล้างมือที่ต้องล้างทุกนิ้ว ซอกนิ้ว ฝ่ามือ และหลังมือ แล้วเช็ดให้แห้งด้วยกระดาษที่เตรียมไว้ หรือถ้าเป็นผ้าเช็ดมือที่ดึงลงมาจากเครื่อง ควรดูให้แน่ใจก่อนใช้ว่าผ้านั้นสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องเป่ามือแบบร้อน เพราะความร้อนและความชื้นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนพื้นห้องน้ำเจริญเติบโตได้ดีมาก

7. สุดท้ายก่อนออกจากห้องน้ำควรใช้กระดาษเช็ดมือหมุนลูกบิดประตู เพราะคนที่ใช้ห้องน้ำก่อนหน้าคุณเขาอาจจะไม่ได้ล้างมือก็ได้

การใช้กระดาษชำระจับลูกบิด กลอนประตู ปุ่มกดชักโครกอาจอาจฟังดูวุ่นวาย และถ้าไม่สะดวกอาจใช้วิธีล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังออกจากสุขา เพราะการขัดและถูด้วยสบู่ล้างมือด้วยวิธีที่ถูกต้อง สามารถทำให้เชื้อแบคทีเรียบนมือลดลงได้ และสามารถลดการติดเชื้อได้ถึงหนึ่งในสามของการเกิดโรคทีเดียว

ที่มา : นิตยสาร Happy+ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
Advertisements

Advertisements

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น