สูตรน้ำเสาวรส ดื่มลดไขมันในเส้นเลือด แก้นอนไม่หลับ By Agrosuede Backyard Gardening
เสาวรส..... ลดไขมันในเส้นเลือด บำรุงสายตาและผิวพรรณ ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
เสาวรส (Passion fruit) หรือที่เราเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า กะทกรกฝรั่ง เป็นไม้ผลประเภทเถาเลื้อย อยู่ในตระกูล Passifloraceae โดยมีลักษณะลำต้นเป็นเถา มีมือเกาะออกตามซอกใบ และเมื่อผลสุกจะ มีสีต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากในประเทศไทยมี 3 พันธุ์ คือ
1. พันธุ์ผลสีม่วง เมื่อผลสุกจะมีสีม่วงเข้มผิวเป็นมัน น้ำจาก พันธุ์ผลสีม่วง มีรสชาติดีกว่าพันธุ์ผลสีเหลือง มีกรดต่ำสีสวยและหวาน จึงเหมาะสำหรับรับประทาน ผลสด ข้อเสียของพันธุ์นี้คือ ค่อนข้างจะอ่อนแอ ต่อโรค
2. พันธุ์ผลสีเหลือง เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองขมิ้น ผิวเป็นมัน น้ำคั้นของพันธุ์นี้ มีกรดมาก ซึ่งมี pH ต่ำกว่า 3 เหมาะสำหรับส่งเข้าโรงงานเพื่อแปรรูปมากกว่าการ รับประทานผลสด ข้อดีของพันธุ์นี้คือ ให้ผลดก และมีความต้านทานโรคและแมลงสูงกว่าพันธุ์ผลสีม่วง
3. พันธุ์ลูกผสม เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์ผลสีม่วงกับพันธุ์ผลสีเหลือง เพื่อคัดเลือกต้นพันธุ์ใหม่ ที่รวมลักษณะผลที่เด่นของแต่ละพันธุ์ไว้ ทำให้มีลักษณะผลใหญ่ ให้ผลดก มีรกห่อหุ้ม เมล็ด มาก เปลือกบาง ต้านทานโรค และมีช่วงเวลาในการให้ผลที่ยาวนาน พันธุ์นี้จะให้ทั้งผลที่มีสีม่วงและผลสีเหลือง พันธุ์ลูกผสมนี้เหมาะสำหรับปลูกเพื่ออุตสาหกรรมการทำน้ำเสาวรส เพราะสามารถเก็บผลผลิตป้อนเข้าโรงงานได้ตลอดทั้งปี
Photo By sunimpex.wordpress.com
ส่วนเปลือก ผลและเนื้อส่วนนอก มีลักษณะแข็ง ไม่สามารถรับประทานได้ และส่วนภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มหรือดำจำนวนมาก ซึ่งเมล็ดจะมีรกเป็นเยื่อเมือกสีเหลืองหรือสีส้ม ลักษณะ เหนียวข้นและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวห่อหุ้มอยู่โดยรอบ เสาวรสสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเขตอากาศเย็นทางภาคเหนือ หรือเขตอากาศร้อนชื้นทางภาคกลางและ ภาคตะวันออก
ซึ่งเป็นพืชที่ปลูก ได้ง่าย การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก แต่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง จึงเป็นพืชที่สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ดี ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง การใช้ประโยชน์ของเสาวรส
Photo By servingjoy.com
1. เนื้อในหรือรกที่หุ้มเมล็ดของผลเสาวรส ใช้รับประทานสดได้ โดยผ่าผลแล้วเติมน้ำตาล ทรายเพียงเล็กน้อยก็สามารถรับประทานได้ทั้งเมล็ดเลย หรือจะนำไปทำเป็นแยมผลไม้ก็ได้
2. เปลือกและเนื้อส่วนนอก สามารถนำไปหมักทำเป็นอาหารสัตว์และปุ๋ยหมักได้
3. น้ำคั้นจากเนื้อซึ่งส่วนนี้มีกลิ่นหอมและ มีกรดมาก ใช้ผสมเป็นเครื่องดื่ม หรือใช้ผสมกับน้ำผลไม้ชนิดอื่น เช่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำส้ม น้ำสัปปะรด น้ำพีช เป็นต้น โดยอัตราการผสมน้ำเสาวรส ประมาณ 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมและรสชาติที่ดี ซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายใน ต่างประเทศ เพราะนอกจากทำให้เครื่องดื่มมีกลิ่นและรสชาติที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารสูงอีกด้วย และน้ำเสาวรสยังสามารถนำไปใช้แต่งกลิ่นและรสชาติของไอศกรีม ขนมเค้ก เยลลี่ เชอร์เบท พาย ลูกกวาด และไวน์
วิธีการเตรียมเครื่องดื่มจากเสาวรส
ส่วนผสม
- เสาวรสสุก 2-3 ผล
- น้ำต้มสุก 2 ถ้วย
- น้ำเชื่อม 1/2 ถ้วย
- เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. นำผลเสาวรสสุกล้างให้สะอาด
2. ผ่า 2 ซีกและใช้ช้อนเอาเมล็ดและส่วนที่เป็นน้ำสีส้มออกให้หมดจากเนื้อผล
3. เติมน้ำสุกและคั้นกรองด้วยกระชอนกับ ผ้าขาวบาง เพื่อแยกเอาเมล็ดและเส้นใยออก
4. เติมน้ำเชื่อม เกลือป่น ชิมรสตามชอบ
คุณค่าทางโภชนาการ
ส่วนประกอบทางเคมีของน้ำเสาวรส ประกอบด้วยน้ำประมาณ 76-85% ของแข็งที่ละลายได้ประมาณ 17.4% คาร์โบไฮเดรตประมาณ 12.4% กรดอินทรีย์ประมาณ 3.4% นอกจากนั้นมีแคโรทีนอยด์ สารประกอบไนโตรเจน สารประกอบที่ให้กลิ่น วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งเอนไซม์
จากการที่เสาวรสมีวิตามินเอค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสารแคโรทีนอยด์ จึงช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ จากการศึกษาพบว่า มีวิตามินซีค่อนข้างสูง คือ 39.1 mg/100 g ของน้ำเสาวรส ซึ่งมากกว่าที่พบในมะนาวและพบสาร albumin-homologous protein จากเมล็ดของ ผลเสาวรส
ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ และยังมีสรรพคุณ ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ลดไขมันในเส้นเลือด และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดังจะเห็นว่าเสาวรสเป็นผลไม้ที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยกลับไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทั้งๆ ที่เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ค่อนข้างสูง และใช้ประโยชน์ได้
หลายอย่าง แถมยังเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ดี ดังนั้นทั้ง ภาครัฐบาลและเอกชนจึงควรทำการส่งเสริมการปลูก การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ให้เป็นไม้ผลเศรษฐกิจ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ ผลไม้ชนิดนี้ให้รู้จักกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
Cr. http://www.gpo.or.th/
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น