เคล็ดลับอายุยืน 100 ปี แบบชาวโอกินาวา..สูตรชีวจิต Photo By www.bluezones.com
คุณตาอายุ 103 ปีบนเกาะโอกินาวาเล่าให้นิตยสารไทม์ที่ไปเจาะเรื่องนี้อย่างละเอียดลออเมื่อไม่นานมานี้ฟังว่า แกจะตื่นหกโมงเช้าทุกวัน และก่อนจะทำะไรก็จะมาเปิดหน้าต่างบ้านก่อน
"ฉันเปิดหน้าต่างก่อนทำอย่างอื่น เพื่อให้เพื่อนบ้านที่รักของฉันได้รู้ว่าฉันยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ได้เป็นอะไรไป เท่ากับประกาศให้รับรู้ว่าฉันกำลังจะใช้ชีวิตอีกวันหนึ่งอย่างมีความสุขแล้ว..." อารมณ์ขันเป็นส่วนหนึ่งสำคัญของการมีอายุยืนยาวแน่นอน
จากนั้นแกก็จะยืนและนั่งออกกำลังกายด้วยการยืดแขนและขา เป็นกายภาพบำบัดแบบธรรมชาติไม่รอให้เกิดอะไรกับร่างกายของตัวเองก่อน แล้วจึงจะมาฝึกฝนความคล่องแคล่วของตัวเอง เสร็จแล้วก็กินอาหารเช้า ซึ่งประกอบด้วยข้าวกล้องและซุปเต้าหู้ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า miso soup ที่ต้มกับผักด้วย
หลังอาหารเช้าคุณตาก็จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง (ไม่ตายตัว ทำเท่าที่อยากจะทำและสนุกที่จะทำ) ไปเก็บหญ้าและวัชพืชรอบๆ บ้านเพื่อดูแลแตงและผักที่ปลูกในสวนเล็ก หลังบ้าน
ลูกๆ บอกให้แกไปอยู่ด้วย แต่คุณตาบอกว่าไม่ต้อง เหตุผลเรื่องนี้มีความสำคัญต่อชีวิตอันยืนยาวเช่นกัน เพราะแกบอกว่าไม่ต้อง เหตุผลเรื่องนี้มีความสำคัญต่อชีวิตอันยืนยาวเช่นกัน เพราะแกบอกว่า
"ลูกหลานบอกให้ไปอยู่ด้วย เพราะเขาเห็นว่าเราแก่แล้ว คงจะทำอะไรเองไม่เป็น และทำอะไรคงต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา แต่ฉันบอกว่าไม่ต้องตราบเท่าที่ฉันดูแลตัวเองได้ก็จะอยู่ของฉันอย่างนี้แหละ ทำไมน่ะหรือ เพราะฉันต้องการความอิสระเป็นตัวของตัวเอง..."
นี่เป็นสิ่งที่คนรอบข้างคนอายุมากอาจจะไม่เข้าใจ แต่ความภาคภูมิในความสามารถของตัวเองที่จะดูแลตัวเองเป็นความรู้สึกที่สำคัญยิ่งต่อการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ
การปฏิบัติต่อคนอายุมากเสมือนหนึ่งเป็นคนไร้ประโยชน์หรือทำอะไรไม่เป็นหรือทำอะไรเองไม่ได้แล้วนั้น คือการทำให้ผู้สูงอายุนั้นไม่มีความอยากจะอยู่ต่อไป
ข้อนี้น้อยคนจะเข้าใจ และยิ่งน้อยคนจะปฏิบัติให้สอดคล้องกับความรู้สึกของคนวัยทองอย่างนี้ เพราะสิ่งที่เรียกว่า "อิสระภาพ" นั้นเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเคลื่อนไหวทางร่างกายที่คล่องแคล่ว หรือไปไหนมาไหนตลอดเวลา
เพียงการได้นั่งดูดวงอาทิตย์ขึ้นลงกินอาหารเช้าตามจังหวะเวลาของตนเองฟังเพลงที่อยากฟัง ฮัมเพลงไปด้วยตามความรู้สึก หรือหยิบหนังสือเล่มไหนมาอ่าน ต้องการจะนั่งลงเขียนบันทึกอะไรของตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาถามว่า
"ไหวไหม กินยาหรือยัง ทำไมยังไม่นอนอีก" อันเป็นการบั่นทอนความรู้สึกของคนสูงอายุที่ยังต้องการจะดำรงชีวิตอย่างที่ตนต้องการ
คุณตาแห่งเกาะโอกินาวาคนนี้ยืนยันว่าตัวเองจะอยู่คนเดียวอย่างนี้ตราบเท่าที่ยังดูแลตัวเองได้ เพราะไม่มีความรู้สึกอะไรจะประเสริฐไปกว่าความรู้สึกเป็นอิสระของตัวเองอีกแล้ว
ลูกสาวแกอายุ 74 เล่าให้ฟังว่า
"คุณพ่อสุขภาพดีมาก ไม่มีปัญหาอะไร แต่ท่านก็ไม่เสี่ยง ถ้าเกิดรู้สึกไม่สบายมากๆ ตอนกลางคืน ท่านก็จะเรียกแท็กซี่ไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที"
และคุณตาก็ไม่ต้องการให้เพื่อนบ้านเป็นห่วงเป็นใยตัวเอง ด้วยความรู้สึกผูกพันคับคนใกล้ๆ กันนั้นทุกครั้งที่คุณตาหายไปจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด แกก็จะเขียนหนังสือใส่กระดาษเอาไปแปะไว้หน้าบ้าน เช่น
"ฉันไปหาหมอ...ไม่เป็นอะไรมากหรอก...ไม่ต้องห่วง...เสร็จแล้วก็จะรีบกลับมา...ขอบคุณที่เป็นห่วง"
หรือไม่ก็อาจจะเป็นข้อความอย่างนี้ "ไปเดินเที่ยว...อากาศกำลังดี...ไปดมดอกไม้ดู...คุณก็ควรจะทำอย่างนี้เหมือนฉันบ้าง...ชีวิตจะได้มีความสุข"
อารมณ์ขันกับความห่วงหาอาทรต่อกันและกันของคุณตากับเพื่อนบ้านนี่แหละคือเคล็ดลับของการมีชีวิตยืนยาวและความหรรษา
พอถึงเวลา 12.30 น. คุณตาก็จะกินอาหารเที่ยง ซึ่งก็คือแตงที่ปลูกเองหลังบ้านกับไข่และเต้าหู้...ทำง่ายๆ และกินอย่างช้าๆ เคี้ยวคำละ 25 ครั้งเป็นอย่างน้อย
จากนั้นก็นอนพักประมาณหนึ่งชั่วโมงและใช้เวลาอีก 2 ชั่วโมงในสวนหลังบ้านเก็บหญ้าบ้าง ขุดดินเพื่อปลูกผักในร่องสวนบ้าง
มื้อเย็นต้องไม่หนัก เป็นผักและผลไม้เบาๆ จากนั้นก็จะสีเครื่องดนตรีสามสายท้องถิ่นที่เรียกว่า "ซานซิน" โดยมีเพลงโปรดที่ชื่อ "ฤดูใบไม้ผลิเมื่อฉันอายุ 19 ที่ชื่นชอบมายาวนานแล้ว"
เล่นดนตรีและฮัมเพลงเสร็จ คุณตาก็เขียนบันทึกประจำวันของตนเอง และทำอย่างนี้มามากกว่า 10 ปีแล้ว
"ฉันเขียนบันทึกประจำวันทุกวันเพราะมันช่วยให้ฉันไม่ลืมอักษรภาษาญี่ปุ่นที่เหมือนภาษาจีนของฉัน...และที่สำคัญ มันทำให้สมองฉันปราดเปรียว และก่อนนอนฉันอาจจะจิบไวน์สักหน่อย...เป็นไวน์ที่ทำจากผลไม้หรือจากกระเทียม..."
ก่อนนอนคุณตาบอกว่า สมองเต็มไปด้วยความคิดว่าวันรุ่งขึ้นจะทำอะไรบ้าง
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเรื่องความมีอายุยืนยาวของคนบนเกาะโอกินาวาเห็นตรงกันว่า สูตรอายุยืนจะละม้ายกันหมด นั่นคือ คนอายุมากที่นี่เคลื่อนไหวร่างกายมาก ไม่นั่งอยู่เฉยๆ และไม่ขี่บ่นหรือสงสารตัวเอง
อาหารการกินของคนอายุใกล้และเกิน 100 ปีบนเกาะแห่งนี้มีความเหมือนกันตรงที่ว่าจะไร้ไขมันและความเค็ม แต่จะเน้นที่ผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยเส้นใยและสารต้านพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคร้ายอื่นๆ
พวกเขาบริโภคถั่วเหลืองมากกว่าประชากรที่อื่นๆ ทั่วโลก คือประมาณ 60-120 กรัมต่อวัน ขณะที่คนญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยกินเพียง 30-50 กรัม และ 10 กรัมสำหรับคนจีน แต่คนตะวันตกส่วนใหญ่ไม่กินถั่วเหลืองเลย
และนักวิจัยกลุ่มนี้สรุปว่า เรื่อง "กินเท่าไหร่" อาจจะสำคัญพอๆ กับ "กินอะไร" พวกเขาพบว่าคนอายุยืนยาวทั้งหลายนั้นมักจะกินให้อิ่มเพียง 80 เปอร์เซ็นเท่านั้น คือไม่ "ยัดทะนาน" เข้าไปในท้องจนอิ่มแปล้ เพราะแคลลอรี่ที่กินเข้าไปในร่างกายมนุษย์นั้น ถ้ากินมากเกินไปก็มีสิทธิ์ทำให้ร่างกายทำงานมากเกินเหตุ เป็นเหตุให้อายุสั้นลงด้วย
เพราะเขาพบแล้วว่า แต่ละวันนั้นคนโอกินาวาบริโภคประมาณวันละ 1,800 แคลอรี ขณะที่คนตะวันตกอัดเข้าไปถึงวันละ 2,500 แคลอรีทีเดียว
เห็นหรือยังครับว่าคนโอกินาวาเขาปฏิบัติตนเองแบบ "ชีวจิต" แล้วได้ผลเพียงใด
ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 152
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น